วันอังคารที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เทคนิคการใช้เกียร์อัตโนมัติ CVT

ปัจจุบัน เราปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบเกียร์อัตโนมัติ (Automatic transmission) เข้ามามีบทบาทในการใช้งานรถยนต์ยุคใหม่มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะระบบเกียร์อัตโนมัติแบบใหม่ที่เรียกว่า CVT นั้น แทบจะเห็นได้ในรถทุกรุ่นทุกยี่ห้อไม่ว่าจะเป็นรถจากค่ายญี่ปุ่น อาทิเช่น Corolla Altis หรือ Honda Jazz หรือจะเป็นจากค่ายยุโรป เช่น Audi A6 แต่ก็มีคนจำนวนมากไม่เข้าใจวิธีใช้งานอย่างถูกต้อง ทำให้ต้องกระเป๋าแบน…แฟนทิ้ง กันไปนักต่อนักแล้ว ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า ระบบเกียร์ CVT หรือเจ้าระบบส่งกำลังไฮเทคสุดยอดที่เราใช้ในทุกวันนี้นั้น เป็นแนวคิดที่เกิดมาจากสุดยอดศิลปิน วิศวกร และนักปรัชญา ที่เรารู้จักกันในนามว่า ลีโอนาโด ดาวินชี ที่ได้สเก็ตภาพออกแบบถึง ระบบส่งกำลังที่ทำงานอย่างต่อเนื่อง ไม่สะดุดในการทำงาน หรือเปลี่ยนการให้กำลัง ระบบ CVT กับระบบเกียร์อัตโนมัติทั่วไปธรรมดานั้น มีความแตกต่างกันมากมาย ระบบ CVT หรือ Continous Variable Transmission นั้นไม่ควรจะถูกเรียกว่าชุดเกียร์ด้วยซ้ำ เพราะการทำงานของมันนั้นแปรผันตามพละกำลังที่ส่งมาจากเครื่องยนต์โดยตรง ภายในระบบเกียร์ CVT ที่นิยมใช้ในรถยนต์ปัจจุบันนั้น จะประกอบด้วยชุดกรวย 2 ชิ้นที่เป็นหลักในการส่งกำลังจากเครื่องยนต์ไปยังล้อ โดยที่ตัวหนึ่งจะถูกต่อเข้ากับเครื่องยนต์ เรียกว่า “พูลเลย์ขับ” ส่วนอีกตัวเป็นพูลเลย์ที่จะให้อัตราทดเรียกว่า “พูลเลย์กำลัง” ซึ่งทั้งสองจะทำงานสอดคล้องกันผ่านสายพานที่คล้องผ่านทั้งคู่ เมื่อเราขับรถไปในถนนกำลังจากเครื่องยนต์จะถูกส่งผ่านพูลเลย์ขับ โดยในยามที่เราใช้อัตราทดต่ำ พูลเลย์กำลังจะมีระยะชันสูงทำให้มีอัตราทดที่สูง และการทำงานจะแปรผันเรื่อยๆ จนเมื่อถึงเกียร์สูงสุดการทำงานก็จะสลับกันระหว่าง พูลเลย์ขับที่ชันตัวสูงขึ้น และพูลเลย์กำลังที่ต่ำลง ระบบจะทำงานเช่นนี้ไปเรื่อยๆ และนั้นหมายความว่าระบบเกียร์ CVT ไม่ได้ขับผ่านชุดเฟือง อย่างที่หลายๆคนเข้าใจ ซึ่งการที่มันขับผ่านด้วยระบบสายพานนี้ ทำให้มันค่อนข้างเปราะ และมีการกล่าวว่าการใช้เกียร์ CVT ในสภาวะสุดขั้วโดยเฉพาะในเขตเมืองที่ขับๆจอดๆ จะทำให้เกียร์เสื่อมสภาพไวกว่าปกติ แม้ว่าเจ้าระบบส่งกำลังประเภทนี้จะค่อนข้างมีปัญหาได้ง่ายเมื่อใช้ไปนานๆ แต่ CVT ก็มีข้อดีที่ให้อัตราเร่งที่เสถียรมาก และให้อัตราประหยัดน้ำมันมากด้วยเช่นกัน และแม้จะกล่าวว่า CVT มีข้อเสียที่เกิดจากการออกแบบที่มองแล้วไม่น่าจะทนทานมากนัก แต่อย่าเพิ่งตกใจไป เพราะเราสามารถป้องกันได้ง่ายๆ ดังนี้ 1. เปลี่ยนนิสัยการขับ เกียร์ CVT นั้น เป็นระบบส่งกำลังที่ออกแบบมาให้สามารถส่งกำลังได้นิ่มนวลกว่าระบบเกียร์อื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคุณรู้ว่าเกียร์นี้ขับด้วยสายพาน ก็แน่นอนว่า มันต้องขับแบบทะนุถนอมด้วยเช่นกัน การขับแบบกระชากสไตล์สปอร์ตนั้น คงไม่ใช่เรื่องดีเสียเท่าไรนัก เนื่องจากการกระชากเกียร์โดยเฉพาะระบบ CVT จะทำให้เกียร์มีปัญหาได้ในอนาคต เพราะตัวเครื่องยนต์นั้นใช้การส่งกำลังผ่านพูลเลย์ด้วยชุดสายพาน หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ชอบออกตัวรถให้ล้อดังเอี๊ยด ด้วยการกระชากตัว จงหยุดเสีย เพราะนี่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ชุดเกียร์เสื่อมสภาพเร็ว และพังได้มากที่สุด 2.เข้าใจในระบบเกียร์ CVT เราได้อธิบายถึงการทำงาน CVT ไปพอสมควรแล้ว และคุณรู้ว่ามันมีการทำงานเช่นไร แต่ที่สำคัญที่สุดนั้นคือ การดูแลรักษา ซึ่งปกติ ช่างผู้เชี่ยวชาญจะแนะนำให้เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเกียร์ที่ประมาณ 20,000-40,000 กิโลเมตร แต่ในสภาพการขับขี่จริง หากชีวิตคุณอยู่ในเมืองมากกว่า 80 % นั้น เราขอแนะนำให้เปลี่ยนน้ำมันทุกๆ 17,000 กิโลเมตร เพราะการที่เราขับๆหยุดๆ แต่ระบบเกียร์ยังทำงาน จะทำให้เกิดความร้อนสะสมมากกว่าที่เราขับไปเรื่อยๆตามชนบท และเมื่อมีความร้อนมากก็หมายถึงการเสื่อมสภาพที่เร็วขึ้นด้วยเช่นกัน ทั้งนี้จงจำไว้ว่าเราต้องใส่ใจในการใช้งานรถยนต์อย่างสม่ำเสมอไม่เฉพาะระบบเกียร์ CVT ที่เราได้พูดถึงกันในวันนี้ แต่หมายถึงทุกระบบในรถที่เราต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้ จึงจะใช้งานได้อย่างถูกต้อง ซึ่ง CVT นั้นเป็นระบบที่หลายๆคนไม่ทราบว่าเกียร์นั้นทำงานอย่างไร ทำให้เกิดความเข้าใจอย่างผิดๆ และท้ายที่สุดก็มีปัญหาเกิดขึ้นตามมามากมาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น